FAQ คำถามที่พบบ่อย พร้อมไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ e-Tax ที่คุณอยากรู้

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีผลต่อหลายด้านในชีวิตของผู้คน และการเสียภาษีก็เป็นหนึ่งในนั้น ดังนั้นระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt จึงเป็นระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยจัดการงานภาษีเป็นเรื่องง่าย แต่หลายคนก็ยังมีคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบนี้มากมาย ดังนั้นในบทความนี้ DiTC จะมาช่วยตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ e-Tax เพื่อให้คุณเข้าใจและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ e-Tax

e-Tax Invoice หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร?

ใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร รวมถึงใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือได้มีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ด้วยระบบ e-Tax Invoice by Email

e-Receipt หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร?

ใบรับหรือใบเสร็จรับเงิน ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ด้วยวิธีการที่กรมสรรพากรกำหนด

วัตถุประสงค์ของการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร?
  • ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 และ National e-Payment
  • รองรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร
  • ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการของภาครัฐและภาคเอกชน
  • ลดการใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ ช่วยลดภาวะโลกร้อน
  • เพิ่มความมั่นใจ ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
ประโยชน์ของการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร?
  • ลดความซ้ำซ้อนและขั้นตอนการดำเนินงาน
  • ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร
  • สามารถนำข้อมูลไปใช้ประมวลผลต่อในระบบสารสนเทศภายในองค์กรได้ทันที
  • ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บเอกสาร
  • สะดวกและลดระยะเวลาในการค้นหาเอกสาร
ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt คืออะไร?

ระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับ โดยไม่จำกัดรายได้ จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องมีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งให้ผู้เกี่ยวข้อง 2 ส่วน คือ ผู้ซื้อสินค้าและบริการ กับกรมสรรพากร

การใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ปลอดภัยจริงไหม?

การใช้ระบบ e-Tax มีความปลอดภัยได้มาตรฐานเป็นไปตามมาตรฐานกรมสรรพากรและสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ETDA

หากจะส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากรในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ต้องทำอย่างไร?

จัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในรูปแบบ XML File และเลือกส่งให้กรมสรรพากร 3 ช่องทาง คือ Upload, Service Provider และ Host to Host ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

วิธีการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ทำอย่างไร?

ต้องจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ให้อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Microsoft Word, Microsoft Excel, PDF หรือ PDF/A-3, XML หรือรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ซึ่งต้องมีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ก่อนส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

กรณีจัดทำใบกำกับภาษีทั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์และแบบกระดาษ ต้องนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรอย่างไร?

การนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรให้นำส่งข้อมูลเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

หากส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากรแล้ว แต่พบว่าข้อมูลมีความผิดพลาด สามารถยกเลิกได้หรือไม่?

ข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อนำส่งให้กรมสรรพากรแล้วจะไม่สามารถทำการยกเลิกได้ ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำข้อมูลที่ถูกต้องและดำเนินการส่งข้อมูลอีกครั้ง

หากพบว่าใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ชำรุด หรือสูญหายต้องทำอย่างไร?
  • กรณีรับเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการส่งไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เดิมให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  • กรณีรับเป็นกระดาษที่พิมพ์ออกจากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการพิมพ์กระดาษออกจากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เดิม แล้วส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามที่ตกลงกัน
ผู้ที่มีสิทธิ์จัดทำและนำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
  • ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร หรือมีหน้าที่ออกใบรับ ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
  • มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) สำหรับนิติบุคคล ที่อยู่ภายใต้การรับรองของผู้ให้บริการออก ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (NRCA) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  • มีระบบการควบคุมภายในที่ดี สามารถพิสูจน์ได้ว่าใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำและนำส่งให้แก่ผู้รับมีความถูกต้องครบถ้วนโดยใช้วิธีการที่เชื่อถือได้
  • ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบ e-Tax Invoice by Email
การเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ต้องทำอะไรบ้าง?
  • ศึกษากฎหมาย ระเบียบ และข้อเสนอแนะมาตรฐาน (สพธอ.) ที่เกี่ยวข้อง
  • ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ของกิจการให้สามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมายกำหนด
  • จัดเตรียมใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมสรรพากรเห็นชอบ
  • จัดเตรียมโปรแกรมลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)
  • ยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์
ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certificate Authority) คืออะไร?

ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certificate Authority) คือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority – CA) เพื่อใช้บ่งบอกถึงความมีตัวตนที่แท้จริงในโลกแห่งอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ให้บริการออกใบรับรองจะทำการรับรองข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกุญแจสาธารณะที่ปรากฏในใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ว่าเป็นของบุคคลนั้นจริง โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่าเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure – PKI)

ผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ คือใคร?

ผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority – CA) คือนิติบุคคล ที่ให้บริการเกี่ยวกับการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับรองตัวตนที่แท้จริงของผู้เป็นเจ้าของใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์นี้จะต้องมีความน่าเชื่อถือ อยู่ภายใต้การรับรองของผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (Thailand National Root Certification Authority หรือ Thailand NRCA) และการกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล Trust Server Principles and Criteria Authority (Web Trust for CAs) ปัจจุบันมีผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่

  • บริษัท ไทยดิจิทัล ไอดี จำกัด thaidigitalid.com
  • บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) https://ca.inet.co.th

โดยใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ต้องจัดเก็บด้วยอุปกรณ์ USB Token หรือ HSM

ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) คืออะไร?

ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) คือ ข้อมูลดิจิทัลที่แนบมากับข้อความหรือเอกสารดิจิทัลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อความหรือเอกสารดิจิทัลนั้น และเพื่อระบุตัวตนของผู้ส่ง ลายมือชื่อดิจิทัลใช้อัลกอริทึมการเข้ารหัสเพื่อสร้างลายมือชื่อดิจิทัล ซึ่งจะเชื่อมโยงกับข้อความหรือเอกสารดิจิทัลนั้นอย่างไม่สามารถลบออกได้ ลายมือชื่อดิจิทัลจึงสามารถใช้เพื่อพิสูจน์ว่าข้อความหรือเอกสารดิจิทัลนั้นไม่ได้ถูกแก้ไขและไม่ได้ถูกส่งโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ส่ง

ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) มีประโยชน์อย่างไร?

ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ช่วยให้ผู้คนสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยมีประโยชน์ในด้านต่างๆ คือ
1) ใช้เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อความหรือเอกสารดิจิทัล
2) ใช้เพื่อระบุตัวตนของผู้ส่ง
3) ใช้เพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อความหรือเอกสารดิจิทัล
4) ใช้เพื่อรับรองความถูกต้องของเอกสารดิจิทัล
5) ใช้เพื่อเซ็นสัญญาอิเล็กทรอนิกส์

 

อ้างอิงข้อมูล : คู่มือ OVERVIEW ของกรมสรรพากร ฉบับลงวันที่ 3 ก.ย.2562