Server ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลและคอยให้บริการกับผู้ใช้งาน เช่น ผู้ใช้งานต้องการเปิดเว็บไซต์ที่ Server ให้บริการอยู่ ก็จะมีการส่งข้อมูลไปให้กับผู้ใช้งานนั้น ๆ ซึ่ง Server มีหน้าตาหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบตู้สี่เหลี่ยมหรือ Rack ที่ในหลายองค์กรนำมาใช้เป็น Data Center หรือจะเป็นตัว Cloud Server ที่มีการให้บริการในรูปแบบของ Virtual Server นั่นเอง
โดยในบทความนี้เราจะมาพูดถึงความแตกต่างของ Server ทั้งแบบตู้ Rack และ Cloud Server กันว่าทั้งสองแบบนี้มีหลักการใช้งานอย่างไร แตกต่างกันตรงไหน และแบบใดเหมาะกับการใช้งานขององค์กร ถ้าพร้อมแล้วไปหาคำตอบกัน
มาทำความรู้จักกับ Server ทั้ง 2 แบบ
1. Rack Server
Rack Server ออกแบบมาเพื่อติดตั้งในตู้ Rack สำหรับใช้งานด้าน Server โดยตรง ต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลระบบ สามารถทำงานได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และรองรับปริมาณงานจำนวนมากได้
ส่วนของการติดตั้งอาจจะต้องมีพื้นที่ประมาณหนึ่ง เพราะ Rack Server มีลักษณะเป็นตู้สี่เหลี่ยมไว้สำหรับใส่ Server ที่ออกแบบมาให้ใส่กับตู้ Rack ซึ่งมีรูปทรงบางและสามารถซ้อนกันได้หลายๆ ชั้น ช่วยให้ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง นอกจากนี้ยังมีระบบระบายความร้อนภายในตัว เพราะเครื่อง Server มีการทำงานอยู่ตลอด และถ้ามีการติดตั้งในห้องที่มีระบบระบายอากาศที่ดีด้วยแล้วนั้นยิ่งจะยืดอายุการใช้งานไปได้อีกด้วย
Rack Server ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากอุปกรณ์หนึ่ง สามารถช่วยในการบริหารจัดการระบบเครือข่าย และลดเวลาในการจัดการแก้ปัญหา อีกทั้งยังป้องภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ป้องกันน้ำรั่วใส่เครื่อง Server หรือป้องกันความเสียหายจากการตกกระแทกพื้น และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย
หลักในการเลือก Rack Server
- เลือกตู้ Rack ที่มีการออกแบบที่มีระบบระบายความร้อนที่ดี
- ตู้ Rack ต้องมีการป้องกันฝุ่นและความชื้นได้ดี
- การออกแบบที่สามารถจัดวางตู้ Rack และการติดตั้งสายไฟได้อย่างเป็นระบบระเบียบ
การใช้งาน
1. เหมาะสำหรับบริษัทและองค์กร ที่ส่วนใหญ่มีการ Host ระบบ Cloud computing ให้บริการเว็บไซต์ หรือ Mail Server ขององค์กร ในส่วนของธุรกิจ SME ระดับกลางก็เหมาะกับ Rack Server ด้วยเช่นกัน
2. เหมาะสำหรับองค์กรที่เป็น Host Server ของเกมออนไลน์ หรือผู้ให้บริการเกมออนไลน์ ทั้งบน PC หรือ Mobile game เพราะจำเป็นต้องมีการรองรับ Workload ที่จำนวนมาก
3. เหมาะสำหรับองค์กรกระทรวงหรือมหาวิทยาลัย ที่ต้องการรองรับผู้ใช้งานที่เชื่อมต่อ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีนักศึกษาเชื่อมต่อเข้ามาใช้งานอยู่ตลอด ในการลงทะเบียนเรียน การตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว ทำให้ต้องมี Server ที่พร้อมใช้งานตลอดเวลา
2. Cloud Server
Cloud Server ให้บริการในรูปแบบของ Virtual Server หรือเซิร์ฟเวอร์เสมือนจริง เป็น Server ขนาดใหญ่ที่มีระบบการทำงานของ Server หลาย ๆ เครื่องพร้อมกัน สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เมื่อเกิดปัญหาตัวหนึ่งขึ้นจะมี Server ตัวอื่น ๆ รองรับการทำงานแทนอยู่ตลอด หมดปัญหาเรื่อง Server ล่มไปได้เลย เหมาะกับองค์กรธุรกิจ หรือแอปพลิเคชั่นที่ต้องมีการทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา
สำหรับ Cloud Server นั้นแตกต่างจาก Server ทั่วไปก็คือปกติแล้ว Server จะสร้าง OS ได้เพียง 1 ตัว และทำงานแค่ภายในระบบของเครื่องเท่านั้น แต่สำหรับ Cloud Server แล้วสามารถสร้าง OS ได้หลาย ๆ ตัวใน Server เครื่องเดียว และยังสามารถขยายความจุได้ง่ายกว่าแบบทั่วไป ทำให้บริหารต้นทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนของเรื่องประสิทธิภาพในการประมวลผลการใช้ CPU, SSD, RAM และอื่น ๆก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เสียไป
ประโยชน์ของ Cloud Server มีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะช่วยในเรื่องการเก็บข้อมูลใน Server ที่มีความปลอดภัยมาก เพราะผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าด้านความปลอดภัยได้ เช่น การเข้ารหัส หรือหากเครื่องคอมพิวเตอร์เกิดสูญหาย เสียหายหรือเกิดไวรัส ระบบจะทำการ Back up ข้อมูลให้อัตโนมัติทันที
อีกทั้งผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านเครือข่ายระบบอินเตอร์เน็ต สามารถปรับลด – เพิ่มขนาดได้ตามความต้องการ และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ไม่จำเป็นด้วย
หลักในการเลือก Cloud Server
สิ่งสำคัญในการเลือก Cloud Server เบื้องต้นคือการเลือกผู้ให้บริการที่ตอบโจทย์และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กร ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการอยู่หลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Google cloud, Microsoft Azure ฯลฯ และเมื่อมีการใช้งาน Server ควรมีเจ้าหน้าที่คอย Support ให้บริการช่วยเหลือ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงการติดตั้งสำเร็จ รวมไปถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ อยู่ตลอด
1. การเลือกฟังก์ชัน หรือ Application ฟีเจอร์การใช้งานต่าง ๆให้สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อรองรับการทำงานของธุรกิจในอนาคต
2. หากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือเพิ่งเริ่มธุรกิจควรจะเลือก Cloud Server แบบพื้นฐานก่อนและเลือกราคาที่เหมาะสม หากอนาคตมีความต้องการอัปเดตการใช้งานเพิ่มขึ้นก็สามารถปรับเพิ่มขนาดของ Server ได้
3. ต้องเป็นระบบที่มีการใช้งานง่ายและไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป สามารถที่จะเรียนรู้วิธีการใช้งานและแก้ปัญหาเบื้องต้นได้เอง
การใช้งาน
1. เหมาะสำหรับบริษัทองค์กรขนาดเล็ก หรือธุรกิจ SME มากกว่า เพราะการที่จะติดตั้ง Server ต้องมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ไม่เพียงแต่ค่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ยังมีค่าจ้างบุคลากรเพื่อมาดูแลระบบให้อีกด้วย
การเลือกใช้งาน Cloud Server ถือว่าเป็นทางเลือกสำหรับองค์กรขนาดเล็กได้ดี ทำให้ง่ายต่อการบริหารต้นทุน และสามารถปรับขยายได้ตามความต้องการ
2. หากเป็นองค์กรขนาดใหญ่ตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป และมีเครื่องคอมพิวเตอร์เยอะก็สามารถเลือกใช้ได้ทั้งแบบ Server ทั่วไปและแบบ Cloud Server โดยขึ้นอยู่กับความต้องการขององค์กรนั่นเอง
3. เหมาะสำหรับองค์กรที่ใช้งาน Server และต้องมีการออนไลน์อยู่ตลอด เช่น Application server จะเลือกเป็นแบบ Cloud Server ก็ตอบโจทย์ได้ดีเลยทีเดียว เพราะมีความเสถียรของการเข้าใช้งานที่แน่นอน
สรุปได้ว่า การเลือกใช้ Server ทั้งสองแบบนั้นก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับความต้องการ และความสอดคล้องในวัตถุประสงค์ขององค์กรนั้น ๆ อีกทั้งการเลือกผู้ให้บริการหรือผู้ที่มาดูแลระบบ Server ให้กับองค์กร ต้องมีความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพมากพอ รวมไปถึงบริการหลังการขายที่ดีและการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกิดปัญหาตามมาได้ เพื่อผลลัพธ์และมีประสิทธิภาพขององค์กรอย่างดีที่สุด