กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มได้รับความสนใจในสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกันอาจเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการบางรายใช้ประโยชน์จากกระแสดังกล่าวเพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งแม้จะเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคแต่ท้ายที่สุดก็อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในด้านต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง (กค.) จึงร่วมกันกำหนดแนวทางควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ โดยเบื้องต้นมีการกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุม 6 ข้อ ดังนี้
- ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
- ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
- ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
- ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น
- ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ
- ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ
***กรณีพบว่าผู้ซื้อขายนำบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการต้องแจ้งเตือนหรือพิจารณาดำเนินการกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ เช่น ยกเลิกการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือระงับบัญชี เป็นต้น
โดยการร่างข้อห้ามและหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 (ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่นี่ คลิก )
เมธวัจน์ วงศ์วรีย์กร
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์และเน็ทเวิร์ค
ประสบการณ์มากกว่า 10 ปี