เสี่ยงแค่ไหน? หากองค์กรคุณเก็บข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่มีระบบป้องกันการรั่วไหล หรือ DLP

data loss prevention (DLP)
จะเกิดอะไรขึ้นหากข้อมูลสำคัญขององค์กรไม่ได้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย และไม่ได้ถูกเก็บไว้เป็นความลับอีกต่อไป?
เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายของข้อมูลสำคัญ และส่งผลกระทบบานปลายกับองค์กรในอนาคต ปัจจุบันหลายองค์กรจึงเลือกใช้เครื่องมือเพื่อเก็บรักษาและปกป้องข้อมูลต่างๆ จากภัยคุกคาม เรียกว่า ระบบป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล หรือ Data Loss Prevention (DLP)
 

ความสำคัญของข้อมูลและสาเหตุข้อมูลรั่วไหล

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสร้างข้อมูลต่างๆ ขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่ง International Data Corp (IDC) บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลการตลาดชั้นนำระดับโลก ได้คาดการณ์ไว้ในรายงานล่าสุดว่า ภายในปี 2568 ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นทั่วโลกจะมีปริมาณมากถึง 163 Zettabyte (ZB)
 
และข้อมูลที่มีอยู่มากมายนี้ก็กลายเป็นสิ่งล่อตาล่อใจอาชญากรให้กระทำการรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขโมยข้อมูลไปขาย การโจรกรรมข้อมูลเพื่อเรียกค่าไถ่ การนำข้อมูลไปใช้ในการ Blackmail รวมถึงการนำไปแอบอ้างตัวตน ส่งผลให้เกิดความเสียหายและเดือดร้อนทั้งกับเจ้าของข้อมูลและองค์กร 
 
สิ่งสำคัญที่องค์กรไม่ควรมองข้ามคือ อาชญากรเหล่านั้นไม่ได้มาในรูปแบบของบุคคลภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีบุคคลภายในที่กระทำโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจอีกด้วย โดยจากข้อมูลของ Verizon 2021 มีตัวเลขสถิติในปี 2021 ชี้ให้เห็นว่า ทุกๆ 11 วินาที จะมีองค์กรตกเป็นเหยื่อโจรกรรมข้อมูลออนไลน์เสมอ และมีสาเหตุของการโจรกรรมมากกว่า 20% มาจากบุคคลภายในองค์กรเอง
 
นี่จึงทำให้ทุกการเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และองค์กรต้องทำความรู้จักกับ ระบบป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล หรือ Data Loss Prevention (DLP) เพื่อช่วยปกป้องข้อมูลให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ
 

ข้อมูลองค์กรที่มักถูกโจรกรรม

  • ข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์
  • ข้อมูลบัตรเครดิต
  • ข้อมูลสุขภาพที่สามารถระบุตัวตนได้
  • ข้อมูลทางการเงิน
  • ความลับขององค์กร เอกสารสัญญา แผนการพัฒนาธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ ส่วนผสมต่างๆ
 

รู้จักระบบป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล (DLP)

ระบบป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล หรือ Data Loss Prevention (DLP) คือโซลูชันรักษาความปลอดภัยที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือเป็นความลับขององค์กรสูญหาย ถูกขโมย หรือเปิดเผยและถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
โดยทั่วไปแล้ว DLP จะเกี่ยวข้องกับการระบุและจำแนกข้อมูลที่ละเอียดอ่อน การตรวจสอบการเข้าถึง และการจำกัดสิทธิ์การใช้ข้อมูล ซึ่ง DLP สามารถช่วยองค์กรปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลที่ละเอียดอ่อนอื่นๆ ให้ปลอดภัยจากการเปิดเผย การโจรกรรม หรือการสูญหาย ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
 
โซลูชัน DLP สามารถรวมเครื่องมือต่างๆ เช่น การเข้ารหัสข้อมูลที่รับรู้เนื้อหา การควบคุมการเข้าถึง การสำรองและกู้คืนข้อมูล และการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล
 

การทำงานของระบบป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล (DLP)

Data Loss Prevention (DLP) รวมไว้ซึ่งเทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ กลยุทธ์ และกระบวนการทำงานต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือเป็นความลับขององค์กร รวมทั้งยังช่วยคัดกรองและตรวจสอบพฤติกรรมน่าสงสัยที่เกิดกับข้อมูลอีกด้วย
 
โดยผู้ใช้งานระบบหรือผู้ดูแลข้อมูลสามารถตั้งค่าและเน้นให้มีการป้องกันข้อมูลและไฟล์สำคัญขององค์กรได้ เช่น ไฟล์เอกสารการเงิน เอกสารสัญญา แผนงานลับ ข้อมูลสินค้าที่เป็นความลับ และฐานข้อมูลลูกค้าต่างๆ
 
ระบบ DLP จะตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกที่เกิดขึ้นทุกการกระทำเกี่ยวกับข้อมูล พร้อมทั้งยังมีการรายงานความผิดปกติต่างๆ ไปยังผู้ดูแลข้อมูลเพื่อยับยั้งการถูกโจรกรรมได้ทันท่วงที โดยการตรวจสอบข้อมูลนั้นจะมีถึง 3 สถานะ คือ
  1. ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกใช้งาน คือ ทุกข้อมูลที่กำลังถูกเข้าถึงและใช้งานในระบบผ่านเครือข่ายต่างๆ หรือโปรแกรม หรือแอปพลิเคชัน
  2. ตรวจสอบข้อมูลที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ข้อมูลที่กำลังถูกส่งต่อออกจากต้นทางไปยังปลายทาง ทั้งการส่งอีเมล คัดลอก แชร์ไฟล์
  3. ตรวจสอบข้อมูลที่หยุดนิ่ง โดยเป็นข้อมูลที่ถูกจัดเก็บเอาไว้บนหน้า Desktop Laptop อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และคลาวด์
 

คุณสมบัติเด่นของ DLP มีอะไรบ้าง?

  • ควบคุมข้อมูลทั้งหมด วิเคราะห์และคัดแยกความประเภทความสำคัญของข้อมูล
  • จัดลำดับความสำคัญ จำแนกสิทธิ์พร้อมควบคุมการเข้าถึงและส่งข้อมูลของแต่ละบุคคล
  • ตรวจจับและป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญจากช่องทางต่างๆ เช่น e-mail, website และ USB Port
  • ควบคุมข้อมูลรั่วไหลจากการรีโมทระยะไกล เช่น TeamViewer, RDP, RAdmin, AnyDesk
  • ตรวจสอบช่องทางการถ่ายโอนข้อมูล 
  • รายงานเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับข้อมูลให้ผู้รับผิดชอบทราบความเคลื่อนไหว
 

ทำไมองค์กรต้องเลือกใช้ DLP?

เพราะข้อมูลมีความสำคัญกับองค์กร ระบบป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรควรมีเช่นกัน ตราบเท่าที่องค์กรยังต้องใช้ข้อมูลนั้นสร้างความเจริญก้าวหน้า บริหารกิจการ หรือใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งในสายธุรกิจ รวมถึงเพื่อให้บริการลูกค้าหรือคู่ค้าคนสำคัญขององค์กร 

โดยองค์กรที่เลือกใช้ DLP จะช่วยลดความเสี่ยงจากสาเหตุต่อไปนี้

  1. การส่งออกข้อมูลทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของบุคลากรภายในองค์กร คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและระวังภัยจากภายนอกเป็นหลัก จนหลงลืมไปว่าบุคคลภายในองค์กรเองก็มีโอกาสที่จะเป็นภัยกับข้อมูลและองค์กรได้ไม่แพ้กัน แม้จะกระทำโดยไม่รู้ตัวหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม เพราะเพียงแค่คลิกเดียวก็สร้างความเสียหายได้แล้ว แต่ DLP จะช่วยบล็อกไว้ก่อนที่ข้อมูลจะถูกส่งออก
  2. การขโมยหรือลบข้อมูลจากบุคคลผู้ไม่หวังดี สาเหตุนี้มักมาจากบุคคลภายนอกที่ต้องการสร้างความเสียหายให้กับองค์กร โดยอาจมาในรูปแบบของการแฮกเข้าระบบแล้วทำการแก้ไข คัดลอก หรือลบข้อมูล ดังนั้นการใช้งาน DLP ในองค์กรจะสามารถช่วยกำหนดสิทธิ์การเข้าถึง ป้องกันการคัดลอกและส่งออกข้อมูล พร้อมแจ้งเตือนผู้ดูแลให้ทราบความเคลื่อนไหวในการกระทำเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆ
 

ประโยชน์ของระบบป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล (DLP)

  • ช่วยในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โดยการตรวจสอบและส่งการแจ้งเตือนการกระทำต่างๆ ที่ผิดปกติไปยังผู้ดูแลข้อมูล เพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
  • ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล โดยทำให้ผู้ดูแลข้อมูลรู้สถานะของข้อมูล ไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะกำลังใช้งาน หยุดนิ่ง หรือถูกโยกย้ายเคลื่อนไหวไปที่ไหน
  • สร้างภาพลักษณ์และเพิ่มความน่าเชื่อถือขององค์กร โดยองค์กรที่มีการใช้งานระบบ DLP ที่ดีนั้น จะช่วยให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีและมีความน่าเชื่อถือในสายตาคู่ค้า ลูกค้า รวมถึงพนักงานในองค์กรเอง ที่ต่างไว้วางใจในการให้ข้อมูลส่วนบุคคล
  • ช่วยให้องค์กรปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างถูกต้อง เพราะในปัจจุบันมีกฎหมายต่างๆ ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและคุ้มครองการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลมากมาย เช่น PDPA, GDPR
 
ดังนั้นโดยสรุปแล้ว โปรแกรม DLP ช่วยให้องค์กรสามารถระบุและปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนในเชิงรุก ลดความเสี่ยงของการสูญหายของข้อมูลหรือการเปิดเผย และรับรองการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการคุ้มครองข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จึงถือได้ว่าเป็นอีกตัวช่วยที่คุ้มค่าแก่การลงทุน