e-Tax Invoice & e-Receipt เป็นเอกสารที่สร้างขึ้นและจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล ที่ใช้ในกระบวนการทางธุรกิจเพื่อระบุการซื้อขายหรือการให้บริการที่ผู้เสียภาษีได้รับ การใช้งานระบบนี้มีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากสามารถลดความซับซ้อนในการจัดเก็บเอกสารและลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์และจัดส่งใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ ดังนั้นในบทความนี้ ดีไอทีซี จะพาไปทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำและนำส่งข้อมูลด้วย ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
การจัดทำและนำส่งข้อมูลด้วย ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
ขั้นตอนที่ 1 การจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
1. การจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับส่งให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
ผู้ประกอบการควรจัดทำเอกสารเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น PDF, PDF/A-3, XML หรืออื่นๆ และต้องมีลงลายมือชื่อดิจิทัล(Digital Signature) ด้วยใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการ
เอกสารที่จัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
- ใบกำกับภาษี (เต็มรูป) ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบกำกับภาษี (อย่างย่อ) ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบเพิ่มหนี้ ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบรับ (ใบเสร็จรับเงิน) ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
รูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องส่งให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
ผู้ประกอบการสามารถส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้ 2 วิธี คือ
- ส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ตกลงกัน และสอดคล้องกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (มาตรา 15 – มาตรา 24) เช่น ส่งทางอีเมล
- หากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ร้องขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบกระดาษ สามารถนำไฟล์นั้นไปปรินต์แล้วส่งมอบเอกสารกระดาษแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้ แต่ต้องปรากฏข้อความบนเอกสารว่า “เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” และผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต้องจัดเก็บเอกสารในรูปแบบกระดาษ
อ้างอิง : ตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561
2. การจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับส่งให้กรมสรรพากร
เอกสารที่จัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
- ใบกำกับภาษี (เต็มรูป) ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบเพิ่มหนี้ ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบรับ (ใบเสร็จรับเงิน) ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
รูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องจัดทำเพื่อนำส่งข้อมูลแก่กรมสรรพากร
1. จัดทำข้อมูลใบกำกับภาษีหรือใบรับเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แบบมีโครงสร้าง (XML Format) ตามข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA Recommendation on ICT standard for Electronic Transaction) ขธมอ.3-2560
2. ข้อมูล XML ที่จัดทำขึ้นต้องลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ในรูปแบบ XAdES ด้วยใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองเล็กทรอนิกส์
ที่มา ข้อมูลและภาพจาก คำแนะนำ/คู่มือการใช้งาน : OVERVIEW ภาพรวม การจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
บริษัท ดีไอทีซี จำกัด ในเครือ บริษัท ธรรมนิติ จํากัด (มหาชน)
ผู้ให้บริการด้านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt อย่างครบวงจร
โทรศัพท์ : 0 2555 0999
LINE : @ditc หรือคลิก https://lin.ee/gztVQxB
Inbox FB : https://m.me/dharmnitiditc
Website : www.ditc.co.th