วิธีการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt

ใบกับกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice

การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice เป็นวิธีการออกใบกำกับภาษีที่ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำให้กระบวนการออกใบกำกับภาษีง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้จะอธิบายวิธีการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น ด้วยระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt เพื่อความสะดวก ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในธุรกิจของคุณ

 

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์

(e-Tax Invoice & e-Receipt) เหมาะกับผู้ประกอบการกลุ่มไหน?

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีลักษณะดังนี้

ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือมีหน้าที่ออกใบรับ มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์

ผู้ประกอบการที่มีระบบควบคุมภายในที่ดี โดยมีวิธีการสร้างส่งและเก็บรักษาข้อมูลที่เชื่อถือได้ และต้องการการจัดทำข้อมูลใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

โดยระบบนี้เหมาะกับการออกใบกำกับภาษีจำนวนมาก และเป็นระบบบัญชีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการจัดทำข้อมูลใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ให้อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Microsoft Word, Microsoft Excel, PDF หรือ PDF/A-3 ที่ได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งมอบแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ส่วนการนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรต้องจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในรูปแบบ XML File ตามมาตรฐานเท่านั้น
 
 

ขั้นตอนการยื่นคำขอ จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

1. เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th) เพื่อยื่นคำขอ 
2. ดาวน์โหลดโปรแกรม Ultimate Sign & Viewer Free และติดตั้งลงเครื่องคอมพิวเตอร์ 
3. เชื่อมต่ออุปกรณ์ Token หรือ HSM ที่จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ 
4. กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและตรวจสอบข้อมูล 
5. ลงลายมือชื่อใน บ.อ.01 และข้อตกลง 
6. ตรวจสอบอีเมล และสร้างบัญชีผู้ใช้งาน 
7. ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ บ.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
 
 

วิธีการจัดทำ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) มีขั้นตอนอย่างไร?

1. ศึกษากฎหมาย ระเบียบ และข้อเสนอแนะตามมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

• ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 15) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์

• ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการ (ขมธอ.3-2560) เวอร์ชัน 2.0

• ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการใช้ข้อความ XML สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงาน (ขมธอ. 14-2560)

• ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการกำหนดข้อมูลในใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์และรายการเพิกถอนใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์

2. ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ของกิจการให้สามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมายกำหนด
 
3. จัดเตรียมใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรมการลงลายมือชื่อดิจิทัล
 
4. จัดทำข้อความใบกำกับภาษีและใบรับ โดยมีรายการที่เป็นสาระสำคัญให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
 
5. จัดทำข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบของไฟล์ข้อมูล (XML File) ตามข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการ (ขมธอ.3-2560) ลงวันที่ 20 มกราคม 2560
 
6. นำไฟล์ข้อมูลตามข้อ 5 มาลงลายมือชื่อดิจิทัล ตามข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการกำหนดข้อมูล ในใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์และรายการเพิกถอนใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์
 
7. ส่งมอบไฟล์ข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ (8) นำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่กรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนภาษีถัดไป

 

ที่มา ข้อมูลและภาพจาก คำแนะนำ/คู่มือการใช้งาน : OVERVIEW ภาพรวม การจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) กรมสรรพากร

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ

บริษัท ดีไอทีซี จำกัด ในเครือ บริษัท ธรรมนิติ จํากัด (มหาชน)

ผู้ให้บริการด้านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt อย่างครบวงจร
โทรศัพท์ : 0 2555 0999
LINE : @ditc หรือคลิก https://lin.ee/gztVQxB 
Inbox FB : https://m.me/dharmnitiditc
Website :  www.ditc.co.th